NEWS

บลจ.เอ็กซ์สปริง มองปี67 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปต่อแบบไซด์เวย์อัพ เหตุปัจจัยลบคลี่คลาย

XSpring AM ประเมินปี 2567 หุ้นไทยโตได้แบบไซด์เวย์อัพ ในกรอบ 1,400 – 1,520 จุดมองความเสี่ยงขาลงเริ่มจำกัดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยหนุน

บลจ.เอ็กซ์สปริง มองปี 2567 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปต่อแบบไซด์เวย์อัพ เหตุปัจจัยลบรุมกดดันในปี 2566 เริ่มคลี่คลาย เชื่อนโยบายภาครัฐในปีหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐ กิจเติบโตดีขึ้น  

ประเด็น Naked Short และ Robot Trade เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีหลัง ก.ล.ต. เตรียมหามาตรการคุมเข้ม ขณะที่ปัจจัยจากตราสารหนี้ที่มีปัญหาถูกซึมซับในราคาตลาดไปมากแล้ว หากไม่มีปัจจัยกดดันใหม่ๆ ตลาดหุ้นไทยก็มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นตามสัญ ญาณเศรษฐกิจที่มีทิศทางเป็นบวก

พร้อมมองกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจ Healthcare & Wellness  รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดการส่งออกที่ดีมีโอกาสเติบโตโดดเด่น 

ด้านกองทุนปีหน้ามอง กองทุนหุ้นวัฏจักรทั่วโลก (Global Cyclical Equity Fund)  พร้อมกระจายความเสี่ยงในกองทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credits) สำหรับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth)

นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ XSpring AM เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมาภาพรวมตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2566 ลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.5 – 3% 

ประกอบกับการมีกระแสเรื่องโปรแกรมเทรด (Robot Trade) และการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short) รวมถึงยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่หุ้นกู้ของบริษัทเอก ชนหลายตัวมีความเสี่ยงต่อการไม่สามารถต่อสัญญา หรือ roll-over เงินลงทุน ปัจจัยเหล่านี้จึงเข้ามากดบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทยอย่างหนัก

อย่างไรก็ดีจากการปรับตัวลดลงที่ค่อนข้างมากนี้ ทำให้มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับลดลงได้อย่างจำกัด จึงมองว่าบรรยากาศการลงทุนในปี 2567 จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดย XSpring AM ประเมินว่าภาพรวมของตลาดหุ้นไทยจะเป็นลักษณะแกว่งตัวขึ้น (Sideway up) 

คาดว่าดัชนีมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400 – 1,520 จุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะยังเติบโตได้ คือ กลุ่มธุรกิจภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจ Healthcare & Wellness รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดการส่งออกที่ดีมีโอกาสเติบโตโดดเด่น

อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะเริ่มผ่อนคลายจากแรงกดดันต่าง ๆ ข้างต้น โดยในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมองว่า จะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายดิจิตอล วอลเล็ตที่จะมีการอัดฉีดกระแสเงินสดเข้าระบบเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

ซึ่งมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดัน GDP เติบโตได้ในปีหน้า และหากภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นบรรยากาศของตลาดตราสารหนี้ที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นไทยก็จะคลี่คลายเช่นกัน

ส่วนประเด็นของ Naked Short ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนผ่านแถลง การณ์ พร้อมทั้งเตรียมหารือถึงมาตรการคุมเข้มต่อไป ซึ่งก็คาดว่าช่วยให้บรรยากาศการลง ทุนคลี่คลายขึ้น

ส่วนกรณี Robot Trade ที่ส่งผลให้นักลงทุนระยะสั้นเกิดความกังวลเนื่อง จากมูลค่าการซื้อขายของโปรแกรมเทรดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มองว่าประเด็นนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เนื่องจากในปี 2566 ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซา ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยซื้อขายน้อยลงจึงส่งผลให้สัดส่วนของ Robot Trade หรือโปรแกรมเทรดจริงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

“ปี 2567 ตลาดหุ้นไทยยังลงทุนได้ เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศไทยยังไม่สูงมาก ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทน (Earning Gap Yield) เมื่อเปรียบเทียบจากการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลนั้นยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับหลายประเทศ

ด้าน Downside Risk หรือความเสี่ยงขาลง เริ่มมีจำกัด โดยเฉพาะเมื่อช่วงดัชนี SET Index ขึ้นอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด ขณะที่ดัชนี SETHD (Set High Dividend 30 Index) ก็มีอัตราเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ค่อนข้างสูงประมาณ 6-7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากในบ้านเราค่อนข้างมาก” นายยศกร กล่าว

จากปัจจัยทั้งหมดมองว่าในปีหน้า กองทุนหุ้นวัฏจักรทั่วโลก (Global Cyclical Equity Fund)  จะตอบโจทย์นักลงทุนได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจโลก

ซึ่งเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางการชะลอตัวลงแต่ยังแข็งแกร่ง พร้อมกับการที่ธนาคารกลางประเทศใหญ่ทั้งสหรัฐและยุโรปปรับท่าทีดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น

ซึ่งกลุ่มหุ้นวัฏจักรมีระดับราคาต่อมูลค่าที่น่าสนใจ  (คาดว่าจะทำผลตอบแทนช่วง Q1 2024 ได้ดี)  ส่วนกองทุนตราสารหนี้นอกตลาดมีดอกเบี้ยรับที่ค่อนข้างสูง (Gross Yield 10%) โดยที่หลายกองทุนมีการเลือกกระจายความเสี่ยงในผู้ออกตราสาร พร้อมมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในกองทุนหลัก

มองว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับความผันผวนด้านราคา และหากเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงก็จะมีโอกาสที่กองทุนตราสารหนี้นอกตลาดจะติดลบได้น้อยกว่ากองทุนตราสารหนี้อื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่ม High Yield Bond

ใส่ความเห็น