NEWS

NERวางเกมต่อยอดรายได้ เร่งเครื่องโรงงานใหม่รับออเดอร์ล้น

“NER” เดินหน้าสร้าง โรงงานใหม่ แห่งที่ 3 รองรับลูกค้าใหม่ ฉายภาพปี 67 โตแจ่มตามปี 66 ที่ยอดขายวิ่งเข้าเป้า พร้อมวางแนวรับแกร่งสู้สถานการณ์ราคายางผันผวน

บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท เดินหน้าก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 กำลังการผลิต 302,400 ตัน เพื่อรองรับลูกค้าใหม่ มั่นใจหนุนยอดขายในอนาคตพุ่งกระฉูด ชี้ปี 2567 ยังเติบโตได้ดีเหมือนปี 2566 ที่ทำผลงานได้เข้าเป้า ย้ำยอดขายปีนี้แตะ 500,000 ตันชัวร์! เผยไม่กังวลสถานการณ์ราคายางผันผวน เหตุตั้งรับดีด้วยวิธี matching order เพื่อรักษาอัตรากำไร

นายศักดิ์ชัย จงสถาพงษ์พันธ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบริหารบัญชีการเงิน NER เปิดเผยว่าบริษัทมีแผนขยายกำลังการผลิตสินค้าประเภทยางแท่งและยางแท่งผสม โดยจะขอนำเสนอบอร์ดเพื่อพิจารณาอนุมัติเงิน 1,200 ล้านบาท สำหรับการลงทุนก่อสร้างโรงงานยางแท่งและยางผสมแห่งที่ 3 มีกำลังการผลิต 302,400 ตัน

โดยจะแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะมีกำลังการผลิต 172,800 ตัน คาดว่าโรงงานจะสร้างเสร็จปลายปี 2567 และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2568 ซึ่งภายหลังจากการขยายกำลังการผลิตดังกล่าว บริษัทจะมีกำลังการผลิตสินค้ารวมทั้งสิ้น818,000 ตันต่อปี จากกำลังการผลิตในปัจจุบันที่ 515,600 ตัน โดยยังมุ่งเน้นการขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับกำลังการผลิตใหม่ที่จะเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในปัจจุบันมีการเซ็นสัญญากลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายรายทั้งในประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และไทย และคาดว่าครึ่งปีหลังจะมีลูกค้าใหม่เพิ่มอีกจำนวนมาก

 ส่วนเป้าหมายในปี 2567 บริษัทยังมุ่งเน้นรักษาการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2566 เนื่องจากกำลังการผลิตที่ใช้ค่อนข้างเต็มพิกัดแล้ว ซึ่งการใช้กำลังการผลิตใหม่ที่เกิดขึ้นจากโรงงานแห่งที่ 3 จะสามารถรับรู้รายได้เข้ามาในปี 2568

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทมั่นใจจะมีปริมาณขายสินค้าที่ 500,000 ตัน ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ จากกำลังการผลิตทั้งหมด 515,600 ตัน โดยการเติบโตมาจากการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าต่างๆ และความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบริษัทยังได้รับคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงไตรมาสที่1/2567 แล้ว เป็นผลจากความต้องการจากประเทศจีนที่ยังมีความต้องการสูง และราคายางที่ปรับตัวดีขึ้น

 ด้านสถานการณ์ราคายางพารานั้น เริ่มมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด (Demand) ภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ (รวมยานยนต์ไฟฟ้าตามแผนสนับสนุนของภาครัฐ) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มขยายตัวหนุนความต้องการใช้ยางในภาคก่อสร้าง

ส่วนสถานการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นนั้น บริษัทใช้วิธี “Matching Order” เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคายางที่ผัน ซึ่งทำให้บริษัทสามารรักษาอัตราการทำกำไร

ใส่ความเห็น