FUND

เมื่อลงทุนแล้วต้องทำอย่างไร

เมื่อลงทุนแล้วต้องทำอย่างไร ปัจจุบันการลงทุนในตราสารทางการเงินมีทางเลือกที่หลากหลาย ซึ่งแต่ละประเภทจะมีรูปแบบของผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ผู้ลงทุนต้องใส่ใจและให้ความสำคัญอยู่เสมอ

ไม่ว่าจะเป็นตราสารประเภทใด นั่นคือ การติดตามข้อมูลข่าวสารรวมถึงความคืบหน้าการดำเนินการของผู้ออกตราสารนั้นใกล้ชิด มาทบทวนเช็กลิสต์กันสักนิดไหมว่า หลังจากลงทุนกันไปแล้วควรติดตามอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้พลาดประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนของตนเอง

การลงทุนในหุ้น – ตราสารที่ออกโดยบริษัทที่ต้องการระดมทุน ผู้ลงทุนจะถือเป็น “เจ้าของกิจการ”

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้ลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อบริษัทไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด ทำให้ผู้ลงทุนไม่สามารถมีข้อมูลผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทไปประกอบการตัดสินใจลงทุนได้

เมื่อเกิดปัญหาบางประการเกี่ยวกับงบการเงิน จนส่งผลสู่การถูกสั่งทำ “การตรวจสอบแบบพิเศษ” (Special Audit) เพื่อหาข้อเท็จจริงกับประเด็นที่เกิดขึ้น

เมื่อสถานประกอบการของบริษัทอยู่ในพื้นที่ที่เกิดวิกฤต ด้านการเมือง หรืออื่น ๆ ที่อาจส่งผลให้การดำเนินการของบริษัทขัดข้องและส่งผลต่อราคาหุ้นได้

ผู้ถือหุ้นควร เตรียมรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่น อาจขาดทุนจากราคาหุ้นที่ตก หรือได้รับเงินปันผลน้อยลงจากปัจจัยลบที่มากระทบ

หมั่นติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางที่เป็นทางการ รวมถึงการขึ้นเครื่องหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อร่วมซักถามในประเด็นต่าง ๆ ตามที่มีข้อสงสัย

การลงทุนในหุ้นกู้ – ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทที่ต้องการระดมทุน ผู้ลงทุนจะถือเป็น “เจ้าหนี้” รวมถึงหุ้นกู้คราวด์ฟันดิง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเสนอขายผ่าน Funding portal โดยผู้ระดมทุนส่วนใหญ่ ผ่านช่องทางนี้จะเป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้ถือหุ้นกู้ควรติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อหุ้นกู้ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอย่างมีนัยยะสำคัญ เมื่อผู้ออกหุ้นกู้มีผลการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ (มีโอกาสที่จะจ่ายดอกเบี้ยไม่ครบจำนวนหรือมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้)

ผู้ถือหุ้นกู้ควร… หมั่นตรวจสอบว่าตนเองถือหุ้นกู้ชนิดใด และได้รับผลกระทบจากการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นกู้อาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้ในทันที รวมถึงอาจไม่สามารถขายหุ้นกู้ได้ในราคาที่พึงพอใจ เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการซื้อขาย

ติดตามข่าวสารในกรณีที่มีข้อสงสัยว่ามีการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ให้อำนาจกับสำนักงาน ก.ล.ต. ในการสั่งการให้บริษัทคืนเงิน

ติดตามแผนการแก้ไขเหตุผิดนัดจากผู้ออกหุ้นกู้หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เมื่อเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้ รวมถึงศึกษารายละเอียดก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการประชุมเพื่อขอเลื่อนการชำระหนี้ หรือขอผ่อนผันการชำระ

ประสานผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ซึ่งจะเป็นบุคคลช่วยติดตามการชำระหนี้ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายในการบังคับหลักประกันและการฟ้องร้องดำเนินคดี กรณีที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติให้ชำระคืนหุ้นกู้โดยพลัน (call default)

การลงทุนในกองทุนรวม – บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) จะนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินต่าง ๆ ตามนโยบายการลงทุนที่ระบุในโครงการจัดการกองทุนรวมตามสัดส่วน เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและบริหารเงินลงทุนให้เกิดผลตอบแทนจากการลงทุนมาสู่ผู้ถือหน่วยลงทุน

ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนควรติดตามอย่างใกล้ชิด เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในราคาสินทรัพย์ที่กองทุนนำเงินไปลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่อเกิดความผิดปกติกับผู้ออกตราสารหรือตลาดตราสารที่กองทุนรวมลงทุน

ผู้ถือหน่วยลงทุนควร…เตรียมรับมือกับความผันผวนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) ของกองทุนรวมที่ถือ ศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อจำกัดจากการใช้ Liquidity Management Tools (LMTs) โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มส่งผ่านต้นทุนการซื้อขายสินทรัพย์ของกองทุนและกลุ่มที่เป็นข้อจำกัดต่อการไถ่ถอนหน่วยลงทุนทั้งนี้ บลจ. จะพิจารณาความเหมาะสมในการใช้ LMTs เพื่อรักษาประโยชน์ของผู้ลงทุนโดยรวมและใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น เช่น

เกิดความผันผวนของตลาดสินทรัพย์ที่ลงทุน เกิดต้นทุนที่มีนัยสำคัญต่อการซื้อขายสินทรัพย์ของกองทุน หรือเกิดความผิดปกติกับผู้ออกตราสารและกรณีอื่น ๆ ที่จำเป็น เป็นต้น

ยักษ์ลงทุน

ใส่ความเห็น