NEWS

AAI โชว์ผลงาน Q1/66 ทำรายได้ 1,391 ลบ. มองครึ่งปีหลังฟื้นตัวลูกค้าโตต่อเนื่อง

AAI ประกาศผลงาน Q1/66 ทำรายได้ 1,391 ลบ. มองครึ่งปีหลังฟื้นตัว มั่นใจลูกค้ายังโตต่อ  และเพิ่มสัดส่วนสินค้าแบรนด์ของตนเอง

‘เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ AAI’ ยอมรับธุรกิจ OEM อาหารสัตว์เลี้ยงไตรมาส 1 ปริมาณขายลดลง ต้นทุนเพิ่ม เหตุลูกค้า OEM เร่งระบายสต๊อกหลังระบบขนส่งกลับมาเดินได้ปกติ

แต่มองครึ่งปีหลังสถานการณ์ดีขึ้น ลูกค้าโตต่อ ประกอบกับแผนเร่งเพิ่มลูกค้ากลุ่มเฮ้าส์แบรนด์ และขยายตลาดสินค้าแบรนด์ของบริษัททั้งตลาดไทยและตลาดส่งออก

มองเป้าหมายยอดขายปีนี้อยู่ที่ 6,600 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 14-15% เหตุต้นทุนเพิ่ม ประกอบกับสัดส่วนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานเพิ่ม คงแผนเพิ่มกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง ยังมั่นใจตลาดยังโต ต้องเร่งโชว์ความพร้อมเหนือคู่แข่ง

นายเอกราช พรรณสังข์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ AAI ผู้รับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานบรรจุภาชนะปิดผนึก (Human Food) ชั้นนำของประเทศ และเจ้าของผลิตภัณฑ์อาหารแมวและสุนัข แบรนด์ “มองชู” “ฮาจิโกะ” และ “Pro” เปิดเผยว่า

ภาพรวมของผลประกอบการปี 2566 มีความท้าทายจากปัจจัยกระทบในเรื่องต้นทุน และการชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเนื่องจากลูกค้าในสหรัฐอเมริกาเร่งระบายสินค้าให้สอดรับกับระยะเวลาการจัดส่งที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทำให้ยอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาลดลง แต่บริษัทยังเชื่อว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ และคาดว่าสถานการณ์จะเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ในขณะที่บริษัทเร่งปรับตัวควบคุมต้นทุนให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,391 ล้านบาท ลดลง 15.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน จากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีปริมาณการขายลดลงจากการที่ลูกค้าในตลาดสหรัฐอเมริกามีสต็อกสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงอยู่ปริมาณสูง เพราะกระบวนการเคลียร์สินค้าที่ท่าเรือกลับสู่ภาวะปกติหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ทำให้สินค้ารอบใหม่มีระยะเวลาขนส่งสั้นลง แต่จากการที่ตลาดค้าปลีกยังเติบโตได้ ทำให้บริษัทฯ คาดว่าลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์จะสามารถระบายสต๊อก จนปริมาณสต็อกกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ภายในช่วงครึ่งปีแรก

ในขณะที่บริษัทฯ เพิ่มปริมาณขายกลุ่มอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกขึ้นมาชดเชยได้บางส่วน จากความต้องการสินค้าในกลุ่มประเทศตะวันออกลางที่ยังคงสูงแม้ว่าราคาทูน่าจะปรับสูงขึ้น

กำไรสุทธิ ไตรมาส 1/2566 อยู่ที่ 72 ล้านบาท จากยอดขายและอัตรากำไรที่ลดลงอย่างมากจากราคาวัตถุดิบทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น พร้อมกับสัดส่วนอาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกเพิ่มขึ้น

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการทำกิจกรรมทางการตลาดต่อเนื่องจากปีก่อน แม้บริษัทจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นและต้นทุนทางการเงินลดลงมา แต่ก็สามารถชดเชยได้เพียงบางส่วน

นายเอกราช กล่าวต่อถึง ภาพรวมของผลประกอบการปี 2566 คาดยอดขายจะปรับมาอยู่ที่ประมาณ 6,600 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง 5,400 ล้านบาท

ลดลงจากการประมาณการณ์ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่รับ OEM กับลูกค้าเจ้าของแบรนด์ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป ขณะที่คาดว่ายอดขายอาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ของบริษัทที่ขายในประเทศยังสามารถเติบโตได้ และคาดอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ 14-15%

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตตามแผนเพื่อให้มีความพร้อมในการรับจ้างผลิตจากลูกค้ารายใหม่ ๆ ตลอดจนเพื่อรองรับการกลับมาเติบโตของลูกค้าในปัจจุบันเมื่อสถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

อีกทั้งยังคาดหวังว่า ยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงภายใต้แบรนด์ของบริษัทจะสามารถเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งในประเทศไทยและจีน รวมถึงจะสามารถสร้างโอกาสทำตลาดในประเทศแถบเอเชียและกลุ่มตะวันออกกลาง

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานบรรจุภาชนะปิดผนึกปี 2566 จะทำได้ประมาณ 1,200 ล้านบาท หรือเติบโต 15 % จากปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับประมาณการเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม เพราะได้รับปัจจัยบวกจากค่าระวางเรือลดลง และปัญหาเรื่องการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ซึ่งตลาดสำคัญยังเป็นกลุ่มตะวันออกกลาง แต่คาดว่าอัตรากำไรในผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะปรับลงจากปีก่อน เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากต้นทุนราคาปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการแข่งขันที่รุนแรงภายในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนทางการเงินอยู่ในระดับต่ำ และมีสภาพคล่องตลอดจนเงินสด เพียงพอกับการดำเนินงานตามปกติเพื่อรองรับการลงทุนตามแผนการขยายกำลังการผลิตและการสร้างคลังสินค้าอัตโนมัติแห่งที่ 2 ของบริษัทในปี 2566 นี้

ใส่ความเห็น