NEWS

CK-BEM ควงคู่เติบโตก้าวกระโดด ผลงานนิวไฮ Backlog พุ่ง

CK – BEM สุดแกร่ง ปี 2566 เติบโต ก้าวกระโดด ทำ New High ย้ำ!ยอด Backlog ทะลุ 2.5 แสนล้าน อานิสงส์ยอดผู้ใช้ทางด่วน รถไฟฟ้า กลับมาคึกคัก

นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองประธานกรรมการบริหาร บมจ. ช.การช่างหรือ CK และกรรมการบริหาร บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM ย้ำชัด! ปี 2566 จะเป็นปีที่มีการเติบโตอย่าง ก้าวกระโดด ของ CK และ BEM 

รายได้กำไรของ BEM จะทำ New High รวมถึง Backlog ของ CK จะทำสถิติสูงสุดในรอบ 50 ปี ตอกย้ำโมเดลธุรกิจของ CK มาถูกทาง

โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา BEM มีรายได้ 14,030 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,304 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.8 กำไรสุทธิ 2,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,426 ล้านบาท หรือร้อยละ 141.2 ซึ่งเป็นผลจากการที่ปริมาณจราจร และปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้า กลับมาสู่ภาวะปกติและดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด

ยอดผู้ใช้ทางด่วน-รถไฟฟ้าดีดตัวขึ้น

โดยมีปริมาณผู้ใช้ทางด่วน 1.04 ล้านเที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 22.4 และปริมาณผู้โดยสาร Blue Line ที่ 270,000 ที่ยวต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 84.5 และปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 400,000 เที่ยวต่อวัน

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2566 ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะมากกว่า 420,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งสูงกว่าเมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด เนื่องจาก Blue Line เปิดเดินรถครบลูป และปริมาณผู้ใช้ทางด่วนจะกลับมา 100% ส่งผลให้กำไรในปี 2566 เพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 อย่างแน่นอน

เชื่อสายสีส้มจะเริ่มเปิดให้บริการได้ใน3ปี

ในส่วนของ Orange Line BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ครม.เห็นชอบเพื่อลงนามในสัญญา เชื่อมั่นว่ารัฐต้องเร่งรัด เพราะโครงการมีความสำคัญต่อระบบขนส่งมวลชน และโครงการล่าช้ามากว่า 3 ปีแล้ว ทำให้มีค่าใช้จ่ายและต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น

หาก BEM ลงนามในสัญญา ก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ทั้งในเรื่องของเงินลงทุน และผู้รับเหมาได้แก่ CK ที่มีศักยภาพและประสบการณ์ในการก่อสร้าง Project ขนาดใหญ่ ซึ่ง BEM มั่นใจว่าสามารถเปิดให้บริการ  Orange Line ฝั่งตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง ก่อนกำหนดในสัญญาแน่นอนและฝั่งตะวันตกจะเปิดได้ภายใน 6 ปี หลังลงนามสัญญา

จับตาเจรจางานรัฐชัดเจนสิ้นปีนี้

ในส่วนของงานโครงการที่สำคัญ และอยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐ ได้แก่ โครงการ Double Deck อยู่ระหว่างเจรจาในเบื้องต้นกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ควบคู่ไปกับการรอผลการจัดทำ  EIA ของ กทพ.

คาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีความชัดเจน โดยขั้นตอนต่อไปจะมีการแก้ไขสัญญาตามพรบ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหารถติด

นอกจากนี้ โครงการ Purple Line ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำลังเร่งรัดดำเนินโครงการ โดย BEM พร้อมเจรจาทันทีที่ รฟม.ได้ทำการศึกษาตามขั้นตอนของพรบ.การร่วมลงทุนฯแล้วเสร็จ ส่วนโครงการอื่นๆ ของภาครัฐ BEM ก็มีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลทุกรูปแบบอย่างเต็มที่

CK โชว์รายได้ก่อสร้างขยับขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับในส่วนของ CK นายพงษ์สฤษดิ์ เปิดเผยว่า 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้ผลประกอบการที่ 2564 มีรายได้ก่อสร้าง 12,198 ล้านบาท ขณะที่ปี 2565 มีรายได้ก่อสร้าง 18,097 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.35 กำไรสุทธิ 1,105 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ 199 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.96 มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 7.66%

ปัจจุบัน Backlog มูลค่ารวม 55,867 ล้านบาท จากโครงการ Purple Line ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และโครงการ Double Track ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

ปี 66 ลงนามสัญญางานมูลค่า 98,000 ล้านบาท 

และปี 2566 มีโครงการสำคัญที่มีความชัดเจนอยู่ 2 โครงการ คือ โครงการ Luang Prabang Hydropower ซึ่งจะลงนามสัญญาภายในปีนี้ มูลค่า 98,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างโครงการ 7 ปี

ปัจจุบันบริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ได้เจรจาข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าเสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการลงนามสัญญาเงินกู้กับผู้ให้กู้ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จภายในเดือนเมษายน 2566 ส่วนงานก่อสร้างก็สามารถเริ่มได้ภายในปีนี้ ส่งผลให้ Backlog  ไตรมาสแรกปี 2566 ทะลุกว่า 150,000 ล้านบาท

งาน BEM หนุน Backlog ในมือ CK นิวไฮรอบ 50 ปี

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Purple Line ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ คาดว่า BEM จะลงนามได้ในไตรมาสที่ 3 ทำให้มี Backlog เพิ่มขึ้น 109,216 ล้านบาท จึงทำให้ภายในตรมาส3 ทาง CK จะมี Backlog กลับมาที่ 250,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ถือเป็นการทำสถิติใหม่ (New High) ในรอบ 50 ปี ทำให้คาดว่าในอีก 7 – 8 ปี CK จะมีรายได้ปีละ 25,000 – 30,000 ล้านบาท กำไรขั้นต้น 7-8% ได้อย่างมั่นคง

BEM ,TTW, CKP รายได้เพิ่มขึ้น

นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมปี 2566 ถือเป็นปีที่ CK กลับมาเป็นปกติ จากงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการควบคุมต้นทุนที่ดี ทำให้มีกำไรดีขึ้นต่อไปเรื่อยๆ และบริษัทในกลุ่ม ช.การช่าง ได้แก่  BEM ,TTW, CKP จะมีรายได้เพิ่มขึ้น

ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ต่ำ ส่งผลให้ทุกบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นและมีปันผลที่ดี โดยปัจจุบัน CK ถือหุ้น BEM รวมทั้งสิ้นกว่า 35% เพราะมั่นใจในศักยภาพของ BEM และยังมีโอกาสในการเข้ารับงานจากโครงการทางด่วน และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายต่างๆ ในอนาคต

และงานประมูลโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการAirport โครงการ Double Track โครงการ Motorway ซึ่ง CK และ BEM มีประสบการณ์ มีความพร้อมและศักยภาพอย่างมากในการเข้าไปดำเนินงานให้กับภาครัฐ

ยักษ์ลงทุน

ใส่ความเห็น