NEWS

TSE ร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ตั้งเป้าคว้า 150 – 300 MW

TSE ร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ฟาร์มบวกแบตฯ (BESS) ตั้งเป้าคว้าส่วนแบ่งโควต้าอย่างน้อย 5 – 10% ของโควต้า หรือ ขนาดกำลังผลิตรวมประมาณ 150 – 300  เมกะวัตต์ ลุ้นฟังข่าวดีต้นปีหน้า

ดร. แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า บริษัทฯ และกลุ่มบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมการเสนอโครงการตามขั้นตอนของประกาศกำหนดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และมีความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emission) ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) โดยบริษัทฯ และกลุ่มบริษัทสนใจในพลังงานหมุนเวียนประเภท พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จากโควต้ารับซื้อไฟฟ้ารวม 2,368 เมกะวัตต์ และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) จากโควต้ารับซื้อไฟฟ้ารวม 1,000 เมกะวัตต์ ที่เปิดให้ยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดร.แคทลีน กล่าวว่า บริษัทฯ และกลุ่มบริษัทได้เตรียมความพร้อมทุกด้านตามข้อกำหนด โดยได้มีการศึกษาหาพื้นที่ที่ใกล้กับสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย ซึ่งได้ทำการตรวจสอบทำเลที่ตั้งของที่ดินตามผังเมืองและได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ อีกทั้งพื้นที่ที่ได้เตรียมการไว้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงจากปัญหาอุทกภัยและเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงในการรับแสงแดดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า

จากประสบการณ์กว่า 14 ปี ของบริษัทฯ และกลุ่มบริษัท ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกในธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล ทำให้เชื่อมั่นว่าบริษัทฯ มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการออกแบบ ก่อสร้าง พัฒนาโซลาร์ฟาร์มโครงการต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยการใช้เทคโนโลยีชั้นนำในระดับ Tier 1 และมีประสิทธิภาพเพื่อประโยชน์สูงสุดในด้านธุรกิจและสังคมทำให้บริษัทฯ และกลุ่มบริษัทเป็นที่ยอมรับมาตลอด

ดร.แคทลีน กล่าวเสริมว่า มีความมั่นใจว่าบริษัทฯ และกลุ่มบริษัทจะได้โควต้ากำลังไฟฟ้าเสนอขายจากการประมูลในครั้งนี้อย่างน้อย 150 – 300 เมกะวัตต์ จากการเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากมีผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด มีกระแสเงินสดรวมทั้งกำไรสะสมจากผลการดำเนินงานเพียงพอ และยังได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำในประเทศ

ปัจจุบัน TSE มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในประเทศไทย รวมทั้งหมด 35 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 286.2 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว ขนาดกำลังการผลิตรวม 153.2 เมกะวัตต์ และ มีอีก 1 โครงการที่เป็นโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 133 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ตามกำหนดในปลายปีนี้

 

ใส่ความเห็น