บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยเดือนกรกฎาคม ยังแกว่งตัว Sideway Down จากความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังเฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%ในเดือนนี้ พร้อมแนะจับตา กนง. มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในครึ่งหลังปีนี้เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวของดัชนี 1,500-1,570 จุด แนะกลยุทธ์ลงทุนใน 3 กลุ่มเด่น “กลุ่มแบงก์-โรงพยาบาล-ไอซีที” นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนกรกฎาคม ยังคงแกว่งตัวผันผวนในลักษณะ Sideway Down โดยนักลงทุนยังคงกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงว่า เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2/2565 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0% หดตัวแรงกว่าคาดการณ์เดิมและในช่วงไตรมาส 1/2565 ที่หดตัว 1.6% บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเห็นได้จากทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐทรงตัวที่ระดับสูงจากรายงานที่ว่า ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 6.3%YoY ในเดือนพ.ค. หลังจากเพิ่มขึ้น 6.3% ในเดือนเม.ย. ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ FED ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 4.7%YoY ในเดือนพ.ค.
ส่วนภาพรวมในประเทศ ทาง กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 65 ลดเหลือ 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4.0% ขณะที่การส่งออกปรับเพิ่มเป็น 5-7% จากเดิม 3-5% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0-7.0% เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป จากอัตราเงินเฟ้อในทุกประเทศทั่วโลกทรงตัวในระดับสูงเนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น กดดันธนาคารกลางแต่ละประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สำหรับประเทศไทยรายงานดัชนี CPI ทั่วไปเดือนมิ.ย.ขยายตัว 7.66% ในช่วงครึ่งแรกของปีดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 5.61% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรง กดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวของดัชนีในกรอบ 1,500-1,570 จุด
ส่วนปัจจัยในประเทศที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ แผนรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การประกาศผลการดำเนินงานในประจำงวดไตรมาส 2/2565 และครึ่งปีแรกของหุ้นกลุ่มธนาคาร ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ญี่ปุ่นเปิดเผยการใช้จ่ายภาคครัวเรือน พ.ค. และดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนพ.ค. สหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนมิ.ย. และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนพ.ค. จีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมิ.ย. และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนมิ.ย. ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีกำหนดประชุมเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในวันที่ 26-27 ก.ค.
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์สำหรับการลงทุนในเดือนกรกฎาคมที่คาดว่าจะผันผวนในทิศทางขาลง (sideway down) แนะนำทยอยสะสมในจังหวะที่ตลาดปรับลงแรงโดย มี 3 กลุ่มเด่นๆ โดยกลุ่มแรกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในช่วงครึ่งปีหลัง และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากกรณีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เลิกเพดานจ่ายปันผลและทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งหุ้นที่น่าสนใจ ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB และ TISCO กลุ่มที่ 2 หุ้นที่ได้อานิสงส์จากมติครม.ให้ยกเว้นภาษี VAT สำหรับผู้ประกอบการ Data Center ได้แก่ ICN, ITEL, MFEC และ INSET และกลุ่มที่ 3 หุ้นที่ได้ประโยชน์จากความกังวลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ BH, BDMS, CHG, BCH, PRINC และ WPH
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก กล่าวว่า ภาพรวมทองคำในเดือนที่ผ่านมาปรับตัวลง เนื่องจากช่วงกลางเดือน FED เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.75% ส่งผลให้กรอบดอกเบี้ยนโยบาย 1.5-1.75% และหนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดระดับ 3.49% สอดคล้องกับดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 105.78 เป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลงทำจุดต่ำสุดบริเวณ 1,805$/oz ขณะที่ SPDR เทขาย -17.18 ตัน อีกทั้งมุมของ FED ยังมีแนวโน้มเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องโดยเดือนกรกฎาคมคาดว่าปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% เนื่องจากเงินเฟ้อยังทรงตัวสูง เนื่องจากราคาน้ำมันดิบยังทรงตัวเหนือระดับ 105 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้บรรยากาศการลงทุนถูกปกคลุมด้วยนโยบายการเงินที่ตึงตัว
อีกทั้งตลาดคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 3/65 จะเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากคาดว่าเฟดจะยังเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีก 0.75% ในเดือนนี้ ทำให้กรอบดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐขึ้นมาอยู่ที่บริเวณ 2.25-2.50% โดยตลาดยังจับตาตัวเลขภาคแรงงานทั้ง การจ้างงานและอัตราการว่างงาน เนื่องจากเป็นตัวสะท้อนก่อนเศรษฐกิจจะถดถอย อีกทั้งควรติดตามดัชนีฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและภาคบริการหากออกมาต่ำกว่าระดับ 50 จะยืนยันถึงภาวะหดตัว
ดั้งนั้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าราคาทองคำอาจแกว่งตัวในกรอบ 1,730-1,800$/oz เนื่องจากยังไร้ปัจจัยหนุนใหม่อีกทั้งบรรยากาศการลงทุนถูกกดดันด้วยนโยบายการเงินที่ตึงตัว คำแนะนำซื้อขายตามกรอบที่ให้ไว้