NEWS

‘อีอีซี’ ผนึก ‘กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ’ เดินหน้ายกระดับให้บริการทางการแพทย์ และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเศรษฐกิจสุขภาพ

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ร่วมกับ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพครบวงจร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยมี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี นายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมลงนาม และมีนายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีอีซี และนายอาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นพยาน ณ ห้องประชุม Conference สำนักงาน อีอีซี

โดยความร่วมมือระหว่าง อีอีซี และ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกัน ยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ครบวงจร การให้บริการด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ผลักดันพื้นที่อีอีซี ให้ก้าวสู่ ระเบียงสุขภาพภาคตะวันออก (EWC) และตอบโจทย์การเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ให้มีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การบริการ และด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจรในพื้นที่ อีอีซี รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนท้องถิ่น เช่น กลุ่มท่องเที่ยวนวัตวิถี กลุ่มผู้ผลิตสินค้าโอทอป และวิสาหกิจชุมชนตลอดจนผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สามารถพัฒนาสินค้าและบริการแหล่งท่องเที่ยว การใช้จุดเด่นทางวัฒนธรรมและศิลปเอกลักษณ์ในท้องถิ่น รวมทั้งสถานประกอบการเชิงสุขภาพให้มีมาตรฐานในระดับสากล ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในกลุ่มผู้มีรายได้สูงให้เข้าพื้นที่อีอีซี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายหลังสถานการณ์โควิด 19 เริ่มคลี่คลาย

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ความร่วมมือ ฯ ครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญสนับสนุนให้อีอีซี ขับเคลื่อน อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่งเป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยขณะนี้ได้กำหนดเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษด้านการแพทย์ 2 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา (EECmd) ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายสู่ “Medical Vally” จะมีโครงการสำคัญ อาทิ สถาบันวิจัยการแพทย์ชั้นสูง โรงพยาบาลดิจิทัล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 2) ศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์ มหาวิทยาลัยบูรพา (EECg) ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและถอดรหัสพันธุกรรม สร้าง Big Data ห้องสมุดดีเอ็นเอ รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมทั้งยังขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่จะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพครบทุกมิติตามนโยบายของรัฐบาล ยกระดับด้านสาธารณสุข ประชาชนเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน

นายธัชพล กาญจนกูล รองเลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือฯ ครั้งนี้ อีอีซี และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จะร่วมกันศึกษาแนวทาง ให้ข้อเสนอแนะ และประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการแพทย์ และสุขภาพครบวงจร พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูล ผลการศึกษา รายงานการวิจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนร่วมกัน โดยจะได้ร่วมกันเผยแพร่ข้อมูลผลักดันให้เกิด การพัฒนาระเบียงสุขภาพภาคตะวันออก ให้เป็นรูปธรรม เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุน และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร สามารถตอบโจทย์การฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด 19 และการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ซึ่งประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ อีอีซี พร้อมก้าวสู่พื้นที่ต้นแบบของการลงทุนและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ซึ่งในขณะนี้ อีอีซี มีการสำรวจพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุน การเจรจากับผู้ประกอบการด้าน Wellnessเช่น เครือณุศาศิริ หน่วยงานภาครัฐ เช่น องค์การเภสัชกรรม รวมทั้งการสนับสนุนสถานประกอบการให้บริการทางการแพทย์ในรูปของคลีนิคผู้มีบุตรยาก โดย SAFE FERTILITY GROUP ชลบุรี ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน RTAC มีกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งมีรายได้สูงใช้บริการปีละกว่า 10,000 คน ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งยังขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงสู่ธุรกิจที่พักและการท่องเที่ยวในชุมชนได้อย่างต่อเนื่องเป็นโอกาสที่ดีอีกทางหนึ่งของประเทศไทย ในการฟื้นฟูธุรกิจให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น

 

ใส่ความเห็น