NEWS

3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ยื่นหนังสือถึง นายกฯ ค้าน เพิ่ม‘กากอ้อย’ในคำนิยามผลพลอยได้ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยฯ 

 หวั่นหลักเกณฑ์การกำกับที่ผิดพลาด นำไปสู่ระบบอุตสาหกรรมล่มสลาย 

ยักษ์ลงทุน – โรงงานน้ำตาลทรายทั้ง 57 โรงงานทั่วประเทศ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คัดค้าน หากสภาผู้แทนฯ แปรญัตติ เพิ่มคำนิยาม ‘กากอ้อย’ เป็นผลพลอยได้ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ขัดต่อหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับเดิม และข้อตกลงการแบ่งปันรายได้ที่ชาวไร่อ้อยและโรงงานตกลงกันไว้ ชี้หากมีผลบังคับใช้หวั่นทำลายระบบอุตสาหกรรมล่มสลาย  

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า ฝ่ายโรงงานน้ำตาลไม่ได้รับสิทธิให้เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายนี้เลย ทั้งๆ ที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง โรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรงงานทั่วประเทศได้ทำหนังสือด่วนที่สุด เพื่อยื่นต่อ นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานคณะกรรมธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม/พาณิชย์/เกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายและเลขาคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ฉบับใหม่ ที่จะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพุธที่ 15 มิย. นี้ หากมีการเพิ่มคำว่า ‘กากอ้อย’ อยู่ในคำนิยามอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติเสียงข้างมาก ให้ตัดคำว่า ‘กากอ้อย’ ออกจากคำนิยามแล้ว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ไม่เห็นด้วยในการเพิ่มคำนิยามดังกล่าว เพราะจะนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรม เนื่องจากขัดแย้งกับ ร่าง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทรายฉบับที่คณะรัฐมนตรีเสนอ ซึ่งได้ผ่านการประชาพิจารณ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเสนอความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อีกทั้ง ยังขัดต่อหลักการของ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 ที่เน้นหลักจริยธรรมแห่งการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวไร่และโรงงาน สร้างความร่วมมือ ความยั่งยืนและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

นอกจากนี้ คำนิยาม ‘ผลพลอยได้’ ตามกฎหมายฉบับเดิม ทำให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตมาอย่างมั่นคง จากที่เคยมีผลผลิตอ้อยจำนวน 23.91 ล้านตันในฤดูการผลิตปี 2525/2526 เพิ่มเป็น 134.92 ล้านตันอ้อย ในฤดูการผลิตปี 2560/2561 และยังมีอีกหลายแนวทางที่ใช้ปรับปรุงการบริหารอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเพื่อเพิ่มรายได้ และทำให้ราคาอ้อยสูงขึ้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา ชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตกลงร่วมกันกำหนดระบบประกันราคาอ้อยในอัตราตันละ 1,200 บาท โดยเห็นพ้องกันว่าจะไม่กำหนดคำว่า ‘กากอ้อย’ ในคำนิยาม “ผลพลอยได้” เนื่องจากไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งในอุตสาหกรรม ซึ่งจะสงผลให้สำนักงานคณะกรรมาอ้อยและน้ำตาลทรายที่เป็นองค์กรกำกับดูแลตามกฎหมายนี้ไม่สามารถบริหารอุตสาหกรรมนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“เรามองว่า ร่าง พรบ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. (ฉบับที่ ….) ของรัฐบาลที่จัดทำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งที่ได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่ายและคณะรัฐมนตรีก็มีมติเห็นชอบแล้ว เป็นร่างกฎหมายที่มีความเหมาะสมและสร้างเสมอภาคให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ตามปรัชญาการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรม แต่กลับไม่นำมาใช้เป็นร่างหลักในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย และขอยืนยันว่า การคัดค้านครั้งนี้ไม่ได้ต้องการขัดขวางการปรับปรุงกฎหมาย แต่ต้องการกฎหมายที่นำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง จนนำไปสู่การล่มสลายของอุตสาหกรรมเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และคิวบา ที่ล้วนเกิดจากการกำกับดูแลที่ผิดพลาดทั้งสิ้น” นายปราโมทย์ กล่าว

ใส่ความเห็น