NEWS

AMR แจงผถห.ใหญ่ 23.82% จัดโครงสร้าง ดึง “เอ.เอส.แอสโซซิเอท” เข้าร่วมถือหุ้น

ยักษ์ลงทุน – AMR ระบุผู้ถือหุ้นใหญ่ “กลุ่มอารีกุล” จัดโครงสร้างการถือหุ้นในกลุ่มไม่มีอะไรต้องวิตก โดยเปลี่ยนมือจากบุคคลสู่นิติบุคคล ดึง “บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964)” ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมระบบราง ร่วมถือหุ้นสัดส่วน 24.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.02% ฟากซีอีโอ “มารุต ศิริโก” มั่นใจช่วยเกื้อหนุนธุรกิจของบริษัทฯ เพราะเป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญ สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนสถาบันและต่างชาติเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มศักยภาพในการรับงานได้มากขึ้น ระบุที่ผ่านมา “เอ.เอส.แอสโซซิเอท” เป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญโดยเฉพาะงานด้านการก่อสร้างระบบรางและระบบเดินรถ พร้อมสนับสนุนการทำงานของ AMR มั่นใจช่วยผลักดันอนาคตโตก้าวกระโดด

นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเซีย (AMR)ปิดเผยว่าการที่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ซึ่งประกอบด้วย ครอบครัวอารีกุล และนายดนุช ยนตรรักษ์ ได้ทำรายการขายหุ้นออกมาจำนวนกว่า 20 ล้านหุ้น เป็นการทำรายการขายหุ้นไปให้กับบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมโยธาระบบราง โดยมีครอบครัวอารีกุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

วัตถุประสงค์ของการทำรายการในครั้งนี้ เพื่อเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของ AMR จากเดิมที่เป็นบุคคลธรรมดาสู่นิติบุคคล โดยหลังทำรายการดังกล่าวยังคงสัดส่วนการถือครองหุ้นเท่าเดิม คิดเป็น 23.82% โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทฯ แต่อย่างใด

“การที่ “เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964)” มาถือหุ้นใน AMR เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญงานก่อสร้างระบบราง ในขณะที่ AMR มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบเดินรถ ทำให้สามารถเกื้อหนุนและเพิ่มศักยภาพ ให้มีโอกาสได้รับงานเพิ่มขึ้น

นายดนุช ยนตรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ในฐานะตัวแทนของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ AMR กล่าวว่าการซื้อขายหุ้นของกลุ่มอารีกุล เป็นเพียงการปรับเปลี่ยนจากการถือหุ้นโดยบุคคลไปสู่นิติบุคคล ซึ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นยังมีจำนวนเท่าเดิมคือ 23.82%

นอกจากนี้ “เอ.เอส.แอสโซซิเอทฯ” และ AMR สามารถต่อยอดธุรกิจด้านวิศวกรรมร่วมกัน และเป็นการเติมเต็มธุรกิจระหว่างกัน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการส่งต่องานให้กับ AMR โดยเฉพาะในส่วนที่มีความเชี่ยวชาญ และยังมีแผนที่จะสนับสนุนต่อไปในระยะยาว “ทั้งสองบริษัทเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมาอย่างยาวนาน และการเข้ามาถือหุ้นก็เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า มีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตในอนาคต และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนต่อไป ซึ่งทั้งสองบริษัทสามารถเกื้อกูลต่อกัน เพื่อการเติบโต และสร้างผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น”

ปัจจุบัน บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ มูลค่ารวมกว่า 10,500 ล้านบาท เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่- มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก โครงการงานจ้างเหมาบริการซ่อมบำรุงรักษา อาคารสถานี ถนนเลียบทางรถไฟ และอื่น ๆ ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และงานก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ เป็นต้น

ใส่ความเห็น