ENERGY NEWS

TSE รุกโซลาร์ฟาร์ม+แบตฯ ลุ้นผลประมูล มี.ค. อัดงบเพิ่ม 6 พันลบ. โชว์กำไรปี 65 โต 47% 

ดร. แคทลีน มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TSE เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความพร้อมทั้งด้านการเงินและทีมงาน โดยตั้งเป้างบลงทุนปี 66 ที่กว่า 6,000 ล้านบาท จากการเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง โดยมีโครงการของบริษัทฯและกลุ่มบริษัทที่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิค 30 โครงการ จาก 46 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน และโครงการผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System: BESS) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกภายในวันที่ 22 มี.ค. 2566 ทั้งนี้ TSE คาดหวังจะได้โควตาผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์ จากโควตารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวน 5,203 เมกะวัตต์

ส่วนผลประกอบการประจำปี 2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 723.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 492.71 ล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจาก (1) กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV Farm) ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น โครงการ “ฮานามิซึกิ” (Hanamizuki) ให้แก่นักลงทุนสถาบันในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2565 และ (2) จากความสามารถในการบริหารต้นทุนขายและบริการ และค่าใช้จ่ายในการบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับรายได้รวมในของปี 2565 (รวมส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในการร่วมค้า) อยู่ที่ 1,974.07 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้รวม 2,176.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรับรู้รายได้ที่ลดลงจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น 7 โครงการ ซึ่งจำหน่ายไประหว่างไตรมาส 3/2564 และ ในไตรมาส 1/2565 อย่างไรก็ดี บริษัทฯ รับรู้รายได้ในโครงการใหม่จากการเข้าซื้อ โครงการ “ซอยล์กรีต” โซลาร์ฟาร์มประเภท Solar Tracking ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งและเสนอขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถรับรู้รายได้ทันทีตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 ที่ผ่านมา ในส่วนของต้นทุนขายและบริการลดลงเหลือ 892.94 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 17 จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,075.24 ล้านบาท  เนื่องจากนโยบายการบริหารจัดการต้นทุนของโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลที่ดีขึ้น

 

ใส่ความเห็น