FINANCE NEWS

‘กรุงไทย’ มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.25-34.75 บาท/ดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงระมัดระวังตัวอยู่ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปี 2022

ในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ อาทิ ข้อมูลตลาดแรงงาน และ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีน

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

  • ฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เริ่มจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ โดย ISM (Manufacturing & Services PMIs) ในเดือนธันวาคม ซึ่งการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกดดันให้ภาคการผลิตหดตัวลงต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอาจลดลงสู่ระดับ 48.5 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 50 จุด หมายถึง ภาวะหดตัว) อย่างไรก็ดี ภาคการบริการจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นและการขยายตัวของการใช้จ่ายในภาคการบริการ ทำให้ดัชนี PMI ภาคการบริการอาจอยู่ที่ระดับ 55 จุด ทั้งนี้ แม้ว่าการชะลอตัวลงของภาคการผลิตอาจทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อจากสินค้าลดลง แต่ภาคการบริการที่ยังคงขยายตัวนั้น อาจทำให้เงินเฟ้อในส่วนภาคการบริการยังอยู่ในระดับสูงและอาจทำให้เงินเฟ้อโดยรวมชะลอลงยาก ซึ่งตลาดจะรอประเมินอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเงินเฟ้อได้ คือ ภาวะตลาดแรงงานสหรัฐฯ โดยตลาดมองว่า ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อาจลดลงสู่ระดับ 2 แสนตำแหน่ง ตามการปรับแผนการจ้างงานของภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ส่วนค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง (Average Hourly Earnings) อาจขยายตัวในอัตราชะลอลง +0.4% จากเดือนก่อนหน้า (+5.0%y/y) ซึ่งภาพดังกล่าวจะชี้ว่า แม้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นการชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อผ่านตลาดแรงงาน (การเติบโตของค่าจ้าง) อาจชะลอลงตัวลงช้ากว่าที่เฟดต้องการ ทำให้เฟดยังคงกังวลแนวโน้มเงินเฟ้ออยู่ ซึ่งอาจสะท้อนในรายงานการประชุมล่าสุดของเฟด (FOMC Meeting Minutes) ที่บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอาจสนับสนุนการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงจนกว่าเฟดจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้สำเร็จ
  • ฝั่งยุโรป บรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อในฝั่งยูโรโซนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่องและอาจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม อาจลดลงสู่ระดับ 9.6% จากระดับ 10.1% ในเดือนก่อนหน้า หลังรัฐบาลในฝั่งยุโรปต่างออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ โดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงมาก จะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีจำเป็นต้องเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง จนกว่า ECB จะมั่นใจว่าสามารถคุมปัญหาเงินเฟ้อสูงได้สำเร็จ
  • ฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามสถานการณ์การระบาดของ COVID19 ในจีนที่ยังคงน่ากังวลอยู่ ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มมีความหวังกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการบริการโดย Caixin ในเดือนธันวาคม (ซึ่งจะเน้นบริษัทขนาดเล็ก-กลาง เป็นหลัก) ที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 49 จุด และ 46.5 จุด ตามลำดับ และจะเป็นจุดต่ำสุดของดัชนี PMI ก่อนที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้น ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเริ่มคึกคักขึ้น หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณจากข้อมูลการเดินทาง (Mobility Data) ในจีนที่กลับมาคึกคักมากขึ้น ส่วนในฝั่งเวียดนาม การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ อย่าง สหรัฐฯ ยุโรป และจีน ในช่วงที่ผ่านมาจะกดดันให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเวียดนามยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาจลดลงสู่ระดับ 47 จุด ในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับยอดการส่งออกและยอดผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงในเดือนธันวาคมเช่นกัน
  • ฝั่งไทย เรามองว่า ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอาจทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวลงมากขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคมอาจลดลงสู่ระดับ 50 จุด อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 49 จุด ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจ หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม เร่งขึ้นสู่ระดับ 5.9% (ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานราคาที่ต่ำในปี 2021) แต่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนธันวาคม

    สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways แต่เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าได้โดยเฉพาะในจังหวะที่ตลาดปิดรับความเสี่ยงและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกบางส่วนต่างก็รอทยอยขายเงินดอลลาร์ ส่วนผู้เล่นต่างชาติก็รอจังหวะเพิ่มสถานะ Short USDTHB ตามความคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ผ่านภาคการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่ามุมมองดังกล่าวก็อาจสะท้อนผ่านฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติที่อาจเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นไทยในธีมเปิดเมืองได้บ้าง ทั้งนี้ในเชิงเทคนิคัล เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นใกล้โซนแนวรับ 34.2534.30 บาทต่อดอลลาร์ได้เร็ว หากแข็งค่าหลุดระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ 

    ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ควรระวัง ตลาดการเงินอาจปิดรับความเสี่ยงได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด (Good News is Bad News for the market) ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดกังวลแนวโน้มการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและหนุนให้เงินดอลลาร์ รวมถึงบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในจีนที่ยังน่ากังวล ก็อาจกดดันสกุลเงินหยวน (CNY) และสกุลเงินเอเชียได้เช่นกัน

    เราคงคำแนะนำว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

     

    มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 34.25-34.75 บาท/ดอลลาร์

     

    ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.40-34.55 บาท/ดอลลาร์

     

    ขณะที่ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.48 บาท/ดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 34.56 บาท/ดอลลาร์

ใส่ความเห็น