ICT NEWS

กสทช. จัดงานสัมมนาวิชาการ ขับเคลื่อนการพัฒนากิจการสื่อสารของประเทศอย่างยั่งยืน

สำนักงาน กสทช. จัดสัมมนาวิชาการ กสทช. ประจำปี 2565 ภายใต้แนวคิด Knowledge Prosperity มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มช่องทางในแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในกิจการสื่อสารตลอดจนวิทยาการที่ทันสมัยและ ทรงคุณค่าทางวิชาการให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยในปีนี้ได้รับเกียรติจาก พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์  มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และ ผศ.ดร. บุญประเสริฐ สุรักษ์รัตนสกุล ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมเสวนา

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวในหัวข้อ ทิศทางการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมในประเทศไทย ว่า กิจการดาวเทียมกำลังเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาต เสมือนเป็นการปลดล็อก จากเดิมผู้ประกอบการรายเดิมไม่สามารถสร้างและส่งดาวเทียมใหม่ได้ และผู้ประกอบการรายใหม่ก็ไม่สามารถกระทำได้เช่นกัน แต่การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าการเปลี่ยนผ่านคลื่นความถี่ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นกิจการที่มีการแข่งขันไม่ใช่เฉพาะในประเทศเหมือนกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการประมูลคลื่นความถี่ 4G หรือ 5G ที่ประกอบกิจการในประเทศเท่านั้น แต่กิจการดาวเทียมสื่อสารสามารถให้บริการทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นสิทธิที่ทาง ITU ที่เป็นผู้กำกับกิจการสื่อสารในระดับนานาชาติ มีอำนาจในการเพิกถอนสิทธิของประเทศไทย หากไม่สามารถมีการส่งดาวเทียมเข้าสู่วงโคจารได้จริง ไม่เหมือนคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นของประเทศตลอด แม้ไม่มีการใช้งาน จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ไม่นับประเด็นเทคโนโลยีการสื่อสารดาวเทียมที่กำลังจะเปลี่ยนจากดาวเทียมวงโคจรประจำที่ (GEO) มาสู่วงโคจรต่ำ (LEO) ที่ทางบริษัทต่างประเทศ เช่น spaceX หรือ oneweb กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามต่อประเทศในอนาคตยิ่งกว่า OTT

ดังนั้น หลังการประมูลสิทธิในการการใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะเป็นชุด (Package) ครั้งนี้เสร็จ กสทช. ต้องมีการปรับปรุงประกาศ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียมทั้ง 3 ฉบับให้รองรับกับบริบทและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดี ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ รวมทั้งรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมของชาติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ นับเป็นความท้าทายของ กสทช. ที่ต้องทำให้ได้ กสทช. ธนพันธุ์ กล่าว

ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์  มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมในตลาดใหม่ ว่า ตลาดโทรคมนาคมแบบดั้งเดิมที่มีลักษณะของตลาดกึ่งผูกขาดที่มีผู้ประกอบการน้อยราย (Oligopoly) กำลังจะหมดไปและถูกแทนที่ด้วยการสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เพื่อใช้ในการสื่อสารบนอุปกรณ์ IoT เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดีตลาดการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงก็กำลังถูกแบ่งส่วนทางการตลาดจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมขนาดเล็กที่เป็นบริษัทข้ามชาติด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ประกอบการเผชิญกับวิกฤตทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและการใช้งานจากแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เป็นภาระเพิ่มมากขึ้น และวิกฤตในด้านส่วนแบ่งทางการตลาดที่ลดลง ประเทศไทยจึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงส่วนแบ่งทางการตลาดที่แท้จริงและรายได้ที่เสียไปจากบริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างประเทศ เพื่อกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ในการกำกับดูแลให้ครอบคลุม รวมทั้งการกำหนดนโยบายให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไทยสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ

ด้านการกำกับดูแล นอกจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม ต้องมีหน่วยงานอื่นเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้การกำกับดูแลสามารถขับเคลื่อนได้อย่างสอดรับกับตลาดโทรคมนาคมใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการอนุญาตและกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สอดคล้องตามการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ครอบคลุมการกำกับดูแลการบริการจากต่างประเทศ และมีการกำหนดนโยบายด้านส่งเสริมผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมไทยให้เข้าสู่ตลาดแข่งขันในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ต้องกำหนดนโยบายด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยของโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมให้สามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผศ.ดร. บุญประเสริฐ สุรักษ์รัตนสกุล ประธานสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวในหัวข้อ ระบบนิเวศบล็อกเชนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคมประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นสังคมอัจฉริยะตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีที่มีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการสร้างความน่าเชื่อถือและการยืนยันตัวตนในโลกดิจิทัล โดยการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีอภิปรายกลุ่มเพื่อเก็บข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และนำข้อมูลมาใช้ออกแบบระบบนิเวศบล็อกเชนในอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม ผลการวิจัยแสดงถึงสภาพแวดล้อมการทำงานภายใต้ระบบนิเวศบล็อกเชน และการพัฒนาระบบสารสนเทศต้นแบบ 5 ระบบ ได้แก่ ระบบสารสนเทศต้นแบบเพื่อแจ้งข้อมูลข่าวสารของ กสทช. ระบบการจัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดการโทรและค่าใช้บริการ ระบบการจัดเก็บและการบริหารจัดการข้อมูลการตรวจสอบการแสดงเครื่องหมายที่เครื่องวิทยุโทรคมนาคม ระบบตรวจสอบโปรโมชันและการใช้งานแบบออนไลน์เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ และระบบการย้ายค่ายเบอร์เดิม ซึ่งสอดคล้องกับการนำบล็อกเชนไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐของสาธารณรัฐเอสโตเนีย (Estonia, State Electoral Office of., 2017) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Keith, 2016)และทุกระบบสารสนเทศต้นแบบที่ผู้วิจัยออกแบบจะมีการยืนยันตัวด้วยบุคคล (Identity management) ด้วยการใช้บล็อกเชนซึ่งสอดคล้องกับการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชนในการยืนยันตัวตนของสหรัฐอเมริกา (World Economic Forum, 2015) ผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบจากกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ด้านประสิทธิภาพในหน้าที่ของโปรแกรมและด้านความปลอดภัยอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านความสามารถของระบบที่ทำงานตรงตามความต้องการของผู้ใช้และความยากง่ายในการใช้งานระบบ อยู่ในระดับมาก ซึ่งจะเห็นได้ว่า บล็อกเชนซึ่งได้ถูกกล่าวถึงอย่างมากในด้านความปลอดภัยในการเก็บรักษาข้อมูล จากผลการประเมินประสิทธิภาพของระบบดังกล่าว ด้านความปลอดภัยอยู่ระดับมากที่สุด

ด้วยรูปแบบของเทคโนโลยีบล็อกเชนสามารถเลือกการพัฒนาได้หลายรูปแบบ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรฐานกลาง การใช้งานจึงอยู่ในกลุ่มสกุลเงินดิจิทัลเท่านั้น หาก กสทช. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันการสร้างกรอบงานการประยุกต์ใช้งานบล็อกเชน (Conceptual blockchain technology framework) การผลักดันให้เกิดความสมบูรณ์ระบบนิเวศบล็อกเชนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จะเกิดประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในอนาคตและยกระดับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นสังคมอัจฉริยะตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ใส่ความเห็น