ICT

กสทช. เผย 5 บริษัทซื้อซองประมูลดาวเทียมแล้ว รอยื่น 27 ธ.ค.

กสทช. เผย มิวสเปซ, แอสเซนด์ แคปปิตอล, พร้อม เทคนิคอล เซอร์วิสเซส, NT และ สเปซ เทค อินโนเวชั่น รวม 5 รายรับเอกสารการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) แล้ว

พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (28 พ.ย. 2565) บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกสำหรับการประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) พร้อมลงนามในหนังสือตกลงการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-disclosure Agreement : NDA) ที่สำนักงาน กสทช. หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท แอสเซนด์ แคปปิตอล จำกัด เข้ามารับเอกสารการคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 จนถึงขณะนี้มีผู้รับเอกสารการคัดเลือกไปแล้วรวม 5 ราย ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ยังคงเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกต่อไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. 2565 ผู้ที่ประสงค์จะขอรับอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) สามารถรับเอกสารได้ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 น. ณ สำนักกิจการดาวเทียมสื่อสาร อาคารอำนวยการ ชั้น 8 สำนักงาน กสทช. ถ.พหลโยธิน 8 (ซอยสายลม) กรุงเทพมหานคร หลังจากนั้น สำนักงานฯ จะมีการจัดประชุมเพื่อรับฟังการชี้แจงกระบวนการประมูลและการกรอกเอกสารแบบคำขอรับอนุญาต (public Information session) ในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และจะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาตในวันที่ 27 ธ.ค. 2565 จากนั้นสำนักงานฯ จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565 – 4 ม.ค. 2566 และจะประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกในวันที่ 4 ม.ค. 2566 ส่วนวันที่ 7 ม.ค. 2566 จะมีการจัด Mock Aution ให้ผู้เข้าร่วมการประมูล สำหรับวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กำหนดเป็นวันที่ 8 ม.ค. 2566

“ตอนนี้มีบริษัทเข้ามาขอรับเอกสารการคัดเลือก 5 รายแล้ว มากกว่าครั้งก่อนที่มีผู้มาขอรับเอกสารเพียง 2 ราย ทำให้ค่อนข้างมั่นใจในการจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ครั้งนี้ว่าจะประสบผลสำเร็จ เนื่องจาก กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลให้มีความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติได้ด้วย” พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ กล่าว

ใส่ความเห็น