NEWS

ดีพร้อม ชู “เซฟโหมด” ทางรอดฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย

ดีพร้อม ชู “เซฟโหมด” ทางรอดฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย แนะเอสเอ็มอีเข้มแข็งจากข้างใน ลดต้นทุน บริหารความเสี่ยง เพิ่มศักยภาพธุรกิจ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม ชี้แนวทางรอดสำหรับผู้ประกอบการในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอย คือ การเปิด “เซฟโหมด” หรือ การดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังมากขึ้น โดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การเพิ่มช่องทางหารายได้ที่หลากหลาย และการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับการประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยที่ไม่ต้องชะลอหรือหยุดการดำเนินธุรกิจ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม เปิดเผยว่าสมรภูมิเศรษฐกิจทั่วโลกเผชิญภาวะความเสี่ยงรอบด้าน จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อรุนแรง และสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้หลายประเทศปรับลดการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่มีความเป็นไปได้ว่าในปี 2565 จะขยายเพียงตัวร้อยละ 2.5 – 3.5 จากเดิมช่วงต้นปีที่ผ่านมาประเมินว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 จากผลกระทบที่เกิดขึ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) เร่งศึกษาแนวทางสำหรับการประกอบการในยุคปัจจุบัน สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชนให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ภายใต้ปัจจัยความเสี่ยงรอบทิศในปัจจุบัน โดยแนวทางอีกหนึ่งที่สำคัญ คือ การเปิด “เซฟโหมด (Safe Mode)” ของธุรกิจ

ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับการเปิดเซฟโหมดจะเป็นเครื่องมืออันดีในการช่วยประคองธุรกิจและสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจและอุตสาหกรรมในภาวะที่มีความเสี่ยงรอบด้าน ซึ่งรูปแบบในการดำเนินงาน มี 3 วิธีการ ดังต่อไปนี้

1. การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจ โดยธุรกิจสามารถใช้ระยะเวลานี้ วิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนและค่าใช้จ่ายจากบัญชีหรืองบการเงินของธุรกิจ ตรวจสอบมูลค่าสินค้าคงคลัง ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและต้นทุนการขนส่งต่าง ๆ รวมทั้งบริหารภาระหนี้ให้มีดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาเงินสดหรือสภาพคล่องให้ได้มากที่สุด

2. เพิ่มช่องทางการหารายได้ที่หลากหลายที่ใช้ต้นทุนไม่มาก ซึ่งนอกจากการปรับช่องทางการตลาดมาเป็นรูปแบบ Online ที่ใช้ต้นทุนในการตลาดต่ำกว่าช่องทางอื่นแล้ว การใช้แนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยการนำเอาวัตถุดิบที่เหลือหรือของเสียในกระบวนการมาพัฒนาให้เป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่หรือนำกลับมาใช้ใหม่ โดยให้ไม่มีของเสียในกระบวนการเลย ที่เรียกว่า Zero Waste นั้น ก็เป็นอีกทางช่องทางหนึ่งที่ธุรกิจสามารถแปลงค่าใช้จ่ายเป็นทุนหรือรายได้ขึ้นมาได้

3. ลงทุนในด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากพอมีศักยภาพสำหรับการลงทุนในช่วงนี้ธุรกิจอาจลดการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ว่าจะเป็นในตลาดหลักทรัพย์หรือคริปโตเคอเรนซี่ มาเป็นการลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถของตนเอง เช่น การวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่ การใช้ระบบไอที (IT) ในการบริหารจัดการ การใช้เครื่องจักรหรือระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานที่นับวันจะหายากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลับภูมิลำเนาหรือต่างประเทศไป เป็นต้น และเมื่อเศรษฐกิจหรือโอกาสกลับมาก็พร้อมที่ก้าวกระโดดเข้าสู่สนามธุรกิจต่อไป

“สำหรับผู้ที่ไม่มีธุรกิจและสนใจที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่หรือเป็นสตาร์ทอัพ (Startup) ในช่วงนี้ ถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงสูงและกำลังซื้อของผู้บริโภคจะลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ของยุคความปกติถัดไป (Next Normal) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ที่เข้าใจความต้องการและปัญหาใหม่ ๆ ของลูกค้า มาสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ที่นำไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะธุรกิจหรือสตาร์ทอัพที่เห็นโอกาสย่อมใช้กลยุทธ์ ปลาเร็ว กินปลาช้า สร้างธุรกิจที่เติบโตได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน แต่อย่าลืมว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง อยากให้สตาร์ทอัพได้วางแผนและสร้างโมเดลธุรกิจที่เฉียบคมศึกษาพัฒนานวัตกรรมและใช้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ตลอดจนทดลองตลาดจากเงินทุนเล็กน้อยจนมั่นใจเสียก่อน แล้วค่อยเริ่มลงทุนหรือกู้เงินจำนวนมากเพื่อลดความเสี่ยง เนื่องจากการทำธุรกิจ สิ่งที่ได้จากการกู้เงิน คือ การเป็นหนี้หรือภาระทันที ไม่ได้มีรายได้หรือรายรับทางธุรกิจที่แน่นอนและก้าวกระโดดทันทีอย่างที่ฝันไว้ จำเป็นต้องค่อยเป็นค่อยไป” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
โทรศัพท์ 0 2430 6865-66 และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวได้ที่ www.facebook.com/dipromindustry หรือ www.diprom.go.th

ใส่ความเห็น